สินค้าโอท็อป

สินค้าโอท็อป

เรื่อง ตะกร้าหวาย

หมวด : ของใช้/ของตกแต่ง/ของที่ระลึก

ผลิตภัณฑ์

ประวัติความเป็นมา

ชาวบ้านนาคู ตำบลสร้างถ่อน้อย อำเภอหัวตะพาน อาชีพหลัก คือ การทำนา หลังฤดูการเก็บเกี่ยวประมาณเดือน ๓ ถึงเดือน ๕ รวมเวลา ๓ เดือน เป็นเวลาว่างงาน ผู้ชายส่วนใหญ่จะนำวัสดุในท้องถิ่นโดยเฉพาะ ไม้ไผ่ นำมาจักสานหรือประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น กระติบข้าว หวด ตะกร้า กระบุง กระด้ง กระทอ ตลอดจนเครื่องมือในการดักจับสัตว์
นายค่ำ วีระสุข เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ริเริ่มการจักสานตะกร้าหวาย โดยได้ศึกษาเรียนรู้ด้วยวิธีครูพักลักจำ จากวิทยากรที่มาสอนการสานตะกร้าหวายให้กับสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพบ้านสร้างถ่อ เห็นว่าผลิตภัณฑ์มีความสวยงาม และด้วยความสนใจเฉพาะตัวจึงได้พัฒนาฝีมือการจักสานมาเรื่อยๆ สามารถจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านการสานตะกร้าหวายให้กับนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ตลอดจนกลุ่มอาชีพที่สนใจทั่วไป และ ปี ๒๕๕๕ ศูนย์บริการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอหัวตะพานได้สนับสนุนงบประมาณให้กลุ่มอาชีพจักสานตะกร้าหวายหนองสีโว ในการฝึกอาชีพจักสานตะกร้าหวาย โดยมีนายค่ำ วีระสุข เป็นวิทยากร และเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้สมาชิกกลุ่ม ประมาณ ๓,๐๐๐- ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน
นอกจากสานตะกร้าหวายแล้ว ยังได้ประยุกต์สานเป็นของใช้ในครัวเรือนหลายประเภท เช่น กระจาดผลไม้ กระบอกใส่เครื่องเขียน ตะกร้าใส่เสื้อผ้า เป็นต้น
ราคาตะกร้าหวาย ขึ้นอยู่กับขนาดเล็ก-ใหญ่ มีราคาตั้งแต่ชิ้นละ ๓๐๐ – ๒,๐๐๐ บาท

อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

๒.ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น/ชุมชน ได้แก่ ไม้ไผ่ ต้นกก/ไหล และหวาย
๓.ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่น ปราณีต สวยงาม

มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ

๑.ผลิตภัณฑ์ตะกร้าหวาย ได้รับอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานชุมชน (มผช.) มาตรฐานเลขที่ มผช.๑๘๔/๒๕๔๖
๒. ผลิตภัณฑ์ตะกร้าหวาย เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลงทะเบียนผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ปี ๒๕๕๓ และเข้าร่วมการคัดสรรสุดยอด หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ระดับ ๓ ดาว

ความสัมพันธ์กับชุมชน

๑. การผลิตใช้แรงงานของคนในชุมชน ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
๒.มีการถ่ายทอดความรู้/ภูมิปัญญาในการจักสานให้กับคนในชุมชน/สมาชิกกลุ่มอาชีพ นักเรียน นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ
๓.เป็นอาชีพที่ส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนมีรายได้
๔. ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบและส่วนประกอบ



๑. ไม้ไผ่
๒. หวาย
๓. ตะปูเข็ม
๔. ต้นกก
๕. กาวลาเท็กซ์
๖. แล็คเกอร์
๗. ลวด

ขั้นตอนการผลิต

๑. เตรียมวัสดุ/อุปกรณ์
- ต้นกก นำมาทำเป็นเส้นเล็กๆ ใช้เฉพาะบริเวณผิวของลำต้น นำไปตากแดดให้แห้ง และเปียเป็นเส้นเล็กๆ เตรียมไว้สำหรับสาน
-หวายจักเส้นหวายและขูดให้เรียบ เป็นเส้นเล็กสำหรับมัดและสานยึดติดโครงผลิตภัณฑ์
- ไม้ไผ่ ตัดไม้ไผ่ เป็นท่อนเล็กๆ ความยาวประมาณ ๑๖ เซนติเมตร (หรือเท่ากับความสูงของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ) ทาสีเพื่อกันมอด/แมลง
๒. ขึ้นโครงตะกร้า โดยใช้หวายขดเป็นวง ตอกตะปูยึดเพื่อความแน่นหนา
๓. ส่วนก้นตะกร้า ใช้ไม้ไผ่วางตามแนวขวาง พันยึดด้วยลวดและเส้นหวาย(ชุบน้ำก่อนเพื่อให้เส้นหวายเหนียวและพันง่ายขึ้น)
๔. ขึ้นโครงด้านข้างด้วยวิธีเดียวกัน ตัดไม้ส่วนเกินออกให้เรียบร้อย
๕. หลังจากที่ประกอบโครงร่างตะกร้าด้วยไม้ไผ่แล้ว ให้ทาด้วยกาวลาเท็กซ์ เพื่อให้ทุกชิ้นส่วนยึดติดกันให้แน่น แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง
๖. นำเส้นกกที่เปียเตรียมไว้แล้วมาสานขึ้นลาย โดยสานทีละชั้น จนเต็มโครงตะกร้า
๗. เก็บรายละเอียด ตรวจสอบความเรียบร้อย
๘. เคลือบเงาด้วยแล็คเกอร์ ทิ้งไว้ให้แห้ง

เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต

๑. การเตรียมและคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ จะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความละเอียด สวยงาม

๒.มีการตรวจสอบ/ควบคุมคุณภาพ ในทุกกระบวนการ โดยเฉพาะการจัดทำโครงตะกร้า ต้องให้ แน่นหนาและแข็งแรง การวางลวดลายให้ลงตัวเพื่อความสวยงาม 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น